ความบกพร่องทางร่างกาย (Physical impairments) โดยทั่วไปแล้วครอบคลุมลักษณะของความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว (Motor functioning impairments) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ตัวอย่างของความบกพร่องทางร่างกาย ได้แก่ โรคสมองพิการ (Cerebral palsy) โรคลมชัก (Epilepsy) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายอาจมีหรือไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการศึกษาพิเศษ (Special education) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา ซึ่งความช่วยเหลือที่เด็กควรได้รับ ได้แก่ กายภาพบำบัด (Physical therapy) กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) รวมไปถึงบรรดิการพลศึกษา (Adapted physical education) หรือการจัดกิจกรรมพลศึกษาให้เหมาะสมกับเด็กที่มีความผิดปกติ เป็นต้น ส่วนความบกพร่องทางสุขภาพ (Health impairments) เป็นปัจจัยขัดขวางความปกติของร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ โดยมีสาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บ การติดเชื้อ หรือความผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งนี้ความบกพร่องทางสุขภาพอาจลดประสิทธิภาพในการเรียนของเด็กลงได้ จากการลดประสิทธิภาพทางร่างกาย หรือทำให้เด็กอ่อนแอ ตัวอย่างของความบกพร่องลักษณะนี้ ได้แก่ โรคหืด (Asthma) โรงมะเร็ง (Cancer) โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia) เป็นต้น โดยเด็กอาจจำเป็นต้องปรับตัวจากผลข้างเคียงของการรักษาด้วยยา หรืออาจต้องปรับตัวในการเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน ซึ่งโดยทั่วไป ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจะส่งกระทบต่อเด็กแต่ละรายในระดับที่มากหรือน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาที่เกิดกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการลดสมรรถภาพทางร่างกาย สติปัญญา การพูดและภาษา ประสาทสัมผัส รวมไปถึงความบกพร่องในการเคลื่อนไหวร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ประมาณร้อยละ 0.5 ของเด็กวัยเรียนประสบปัญหาความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ โดยในจำนวนดังกล่าวนี้ สาเหตุหลักของปัญหาเกิดจากโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) และรองลงมาคือโรคสไปนาไบฟิดา (Spina Bifida) หรือ ความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูกสันหลังแต่กำเนิด
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและสุขภาพมีลักษณะอย่างไร?
ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพจะแตกต่างกันไปตามลักษณะที่ปรากฏ ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions) ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal conditions) และความผิดปกติทางสุขภาพอื่น ๆ (Other health impairments)
ความผิดปกติของระบบประสาท (Neurological conditions) เกิดจากความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system) หรือสมองและไขสันหลัง โดยปัญหาหลักอันสืบเนื่องมาจากความผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โรคลมชัก (Epilepsy) โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความบกพร่องของไขสันหลังที่มีมาแต่กำเนิด โดยไขสันหลังยื่นออกมา
นอกกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เด็กมีอาการอัมพาตบางส่วน หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตทั้งตัว และอาจเกิดจากการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) อีกด้วย ทั้งนี้ความบกพร่องอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดปกติทางระบบประสาทมักมีหลายระดับ ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงอันตราย และอาจส่งผลต่อความสมรรถภาพทางร่างกาย สติปัญญา การพูดและภาษา รวมถึงประสาทสัมผัส
ความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (Musculoskeletal conditions) ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophy) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile rheumatoid arthritis) ภาวะแขนขาขาดหรือถูกตัดทิ้ง (Amputation) และความทุพพลภาพรูปแบบอื่นๆ ของกล้ามเนื้อหรือกระดูก ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเคลื่อนไหว เดิน ยืน นั่ง หรือทำให้ไม่สามารถใช้มือและเท้าได้อย่างปกติ
ความผิดปกติทางสุขภาพ (Health impairments) ได้แก่ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อและปัญหาเรื้อรัง เช่น เบาหวาน (Diabetes) โรคหืด (Asthma) โรคซิสติก ไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) ซึ่งรวมถึงการได้รับเชื้อ HIV และโรคเอดส์ รวมไปถึงโรคเลือดออกไม่หยุด (Hemophilia) โรคกลุ่มอาการของทารกที่เกิดจากมารดาที่ดื่มแอลกอฮอล์ (Fetal alcohol syndrome) และการทำงานไม่ปกติ หรือล้มเหลวของอวัยวะสำคัญ
เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและสุขภาพ บางคนอาจไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้หรือทำกิจกรรม ในขณะที่เด็กที่มีความบกพร่องดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์และความช่วยเหลือในการศึกษาเล่าเรียนอย่างใกล้ชิด ปัญหาทางด้านร่างกายสามารถขัดขวางความสามารถ
ในการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ในการทำงานของอวัยวะ ความแข็งแรง การสื่อสาร หรือความสามารถใน
การเรียนรู้ จนถึงระดับที่เด็กไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษา เพราะฉะนั้นการศึกษาพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่เป็นโรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) โดยทั่วไปจะมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กบกพร่อง รวมถึงมีปัญหาในการพูดและ
การสื่อสารร่วมด้วย ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีความบกพร่องทางร่างกายอย่างรุนแรง ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องทางสติปัญญา รวมไปถึงความพิการซ้ำซ้อนอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย หรือเด็กบางคน แม้จะมีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ แต่ก็มีระดับสติปัญญาตามเกณฑ์หรืออาจถึงระดับสูง โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรม รวมถึงเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้
ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพมีสาเหตุมาจากอะไร
ลักษณะความผิดปกติซึ่งจัดอยู่ในความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพนั้นมีความแตกต่างกันมากมาย ทั้งนี้เพราะเกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย เช่น โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) และโรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) เกิดจากความบกพร่องทางการเจริญเติบโตของสมอง ในขณะที่ความผิดปกติของร่างกายและสุขภาพอื่นๆ อาจเกิดได้จากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือเป็นผลจากอุบัติเหตุ การได้รับสารพิษ ความผิดปกติของฮอร์โมน หรือแม้กระทั่งไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ความผิดทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและสุขภาพจำนวนมากเกิดจากความผิดปกติของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) ซึ่งเป็นผลจากอุบัติเหตุ การกระแทก หรือการได้รับสารพิษ ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยเสี่ยงต่อความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพของเด็กอาจเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เช่น การใช้ยาในทางที่ผิดหรือการใช้สารเสพติด (Substance abuse) ของมารดาในขณะตั้งครรภ์ หรือแม้ว่าเด็กอาจจะคลอดมาอย่างสมบูรณ์และมีสุขภาพแข็งแรง แต่หากได้รับยาในทางที่ผิดหรือได้รับสารเสพติด รวมถึงการทารุณกรรมทางร่างกาย (Physical abuse) เด็กก็อาจมีความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและสุขภาพในภายหลังได้ นอกจากนี้ ความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและสุขภาพอาจเกิดจากอาการแพ้ เช่น โรคตับอักเสบ (Hepatitis) เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น โรคเลือดออกไม่หยุด (Hemophilia) เกิดจากปัจจัยร่วม เช่น โรคลมชัก (Epilepsy) รวมไปถึงการติดเชื้อ ความผิดปกติหรือความพิการที่มีมาแต่กำเนิด ความผิดปกติของกระบวนการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของร่างกาย และปัญหาสุขภาพที่เรื้อรัง
ปัญหาความบกพร่องทางร่างกาย การเคลื่อนไหวและสุขภาพมีความสำคัญอย่างไร?
ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ อาจเป็นความผิดปกติที่ติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นในภายหลังจากความเจ็บไข้ได้ป่วยหรืออุบัติเหตุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเรียนรู้ของเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กบางรายจะสามารถใช้ชีวิตได้เสมือนปกติ แต่เด็กที่มีปัญหาทางร่างกายและสุขภาพแต่ละคนย่อมมีปัญหาหรืออาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นความช่วยเหลือพิเศษที่เด็กต้องการจึงแตกต่างกันตามไปด้วย เป้าหมายหลักของการช่วยเหลือเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
คือ การทดแทนสิ่งที่เด็กขาด ซึ่งการช่วยเหลือย่อมบรรลุผลสูงสุดหากเด็กสามารถได้รับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยพ่อแม่และครูควรใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการให้เด็กรับประทานอาหารที่เหมาะสม รวมถึงการกระตุ้นการใช้ภาษาและการแสดงออกของเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ หนึ่งในจุดที่ผู้ปกครองจำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษสำหรับเด็กเล็ก คือ การอุ้มเด็ก (Handling) และการจัดท่าทาง (Positioning) โดยการอุ้มเด็กที่ถูกต้อง หมายถึง การจับ การประคอง การอุ้ม และการคอยช่วยเหลือ
ในขณะที่การจัดท่าทางที่ถูกต้อง หมายถึง การให้การสนับสนุนร่างกายของเด็ก รวมไปถึงการจัดวางสิ่งของที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้และผ่อนคลายอย่างเหมาะสม ซึ่งการอุ้มเด็กที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กรู้สึกสบายและเต็มใจรับการสอน นอกจากนี้ การจัดท่าทางก็สามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้และควบคุมการใช้สิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ทักษะการสื่อสารก็ถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพเช่นกัน ดังนั้น การรักษาทั้งก่อนและในวัยเรียน จึงควรให้ความสนใจในส่วนนี้เป็นพิเศษด้วยเช่นกัน โดยหากผู้ปกครองสามารถเลี้ยงลูกที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพได้อย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการพาลูกเข้ารับการรักษากับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ในท้ายที่สุดลูกจะไม่รู้สึกเสียใจในความผิดปกติของตน นอกจากนี้ผู้ปกครองยังสามารถช่วยให้ลูกพลิกความผิดปกตินั้นให้กลายเป็นโอกาส โดยการสนับสนุนให้ลูกเอาชนะความบกพร่องของตนเอง อันจะเป็นการผลักดันให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพอาจจะไม่มีวันหายขาดไปจากตัวเด็ก แต่ผู้ปกครองก็สามารถป้องกันไม่ให้ความผิดปกติเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อเด็กไปตลอดชีวิต โดยเด็กจะสามารถยอมรับปัญหาของตนเองได้เมื่อโตขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเสมือนไม่มีปัญหา ซึ่งบุคคลที่จะสามารถช่วยให้เด็กก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้ดีที่สุดนั้น ย่อมต้องเป็นบุคคลที่รู้จักเด็กมากที่สุด ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือ “พ่อแม่”
สุพิชฌาย์ เลาหะพานิช
ศึกษานิเทศก์ สพป.สระบุรี เขต 1