คำว่า “ ออทิสติก” เป็นคำที่ฟังแล้วไพเราะ รื่นหู มาจากภาษากรีก ว่า AUTISM มีรากศัพท์มาจากคำว่า AUTO มีความหมายว่า ตัวเอง ( SELF) ซึ่งเด็กออทิสติกเป็นเด็กที่อยู่กับตัวเอง ไม่สนใจคนรอบข้าง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับสังคม ไม่รู้ร้อนหนาว ไม่ว่าใครจะทำอะไร อย่างไร ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองอย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้เขียนเองเมื่อได้สัมผัสกับเด็กออทิสติกครั้งแรก รู้สึกตกใจ สั่น ทำอะไรไม่ถูก กลัวว่าเขาจะทำร้าย ซึ่งยังไม่รู้จักเด็กเหล่านี้ดี จนกระทั่งได้ศึกษา และเข้ามาสัมผัสกับเด็กเหล่านี้อย่างจริงจัง จึงทำให้รู้และเข้าใจว่าเด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่น่าสงสาร และต้องการความช่วยเหลือในหลาย ๆ ด้านเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ทราบว่าเนื่องมาจากสาเหตุใดแน่ แต่อาจจะเนื่องมาจากวิทยาการด้านเทคโนโลยีความทันสมัยของข้อมูลข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ จึงทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสังเกตความผิดปกติและเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานมากขึ้น ก็เป็นได้
ลักษณะทั่วไปของเด็กออทิสติก
การที่จะรู้ว่าเด็กคนใดเป็นหรือไม่เป็นออทิสติกนั้น เริ่มแรกจะสังเกตได้จากพฤติกรรมในวัยเด็ก ซึ่งสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ขวบปีแรก พ่อแม่อาจจะสังเกตเห็นตั้งแต่ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ด้านการสื่อความหมาย มีพฤติกรรมที่ทำอะไรซ้ำ ๆ พฤติกรรมจะเริ่มแสดงชัดเจนมากขึ้นเมื่อเด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง หรือ 30 เดือน โดยมีลักษณะปรากฏเด่นชัดในเรื่องความล่าช้าด้านการพูดและการใช้ภาษา ด้านปฏิสัมพันธ์กับสังคมสังเกตได้จากการที่เด็กจะไม่สบตา ไม่แสดงออกทางสีหน้าและท่าทางเหมือนไม่สนใจ จะผูกสัมพันธ์หรือเล่นกับใคร และไม่สามารถแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสมได้เมื่ออยู่ในสังคม เช่น เด็กเล็กขวบกว่า ๆ ถ้าเราเล่นกับเขา เขาจะเล่นด้วย ส่งเสียงตอบ แต่เด็กออทิสติก บางทีก็จะมีบางทีก็ไม่มี ความคงที่ของพฤติกรรมตรงนี้ไม่มี บางครั้งเราเรียกเขาอาจไม่หันแต่จดจ้องอยู่กับสิ่งที่เขามองอยู่ คือ จะสนใจวัตถุมากกว่าคนอื่น ทำให้เขาไม่มองสบตากับเรา ถ้าสัมผัสจั๊กจี้ เขาอาจหัวเราะ แต่หัวเราะแบบไม่มีอารมณ์
ด้านการสื่อความหมาย จะมีความล่าช้าในการพูด หรือไม่สามารถใช้กิริยาท่าทางในการสื่อความหมายหับผู้อื่นได้บางรายที่พูดได้แล้วอาจไม่สามารถโต้ตอบได้อย่างเหมาะสม แต่อาจพูดซ้ำๆ ในสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยไม่สนใจว่าจะมีผู้ฟังหรือไม่ และไม่สามารถเล่นสมมุติหรือเล่นเลียนแบบสิ่งที่เคยพบเห็นในสังคมได้อย่างเหมาะสม
ตามปกติเด็ก 2 ขวบกว่าจะเริ่มเรียกพ่อแม่ เริ่มพูดเป็นคำ และบอกความต้องการของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว แต่ในเด็กออทิสติกหลายคนทำเหมือนจะเรียกแล้วหายไปนาน ๆ เข้าจะสื่อไม่เป็นคำ ส่วนใหญ่เป็นภาษาต่างด้าวที่ฟังไม่รู้เรื่อง นอกจากนี้ ยังดูได้จากพฤติกรรมที่มีความจำกัดหรือมักจะทำสิ่งใดซ้ำ ๆ เช่น มองพัดลมที่กำลังหมุนได้ทั้งวันไม่ละสายตา เด็กออทิสติกจะชอบมองสิ่งของที่เคลื่อนไหว ชอบแสงไฟ หรือเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ เช่น กระดิกนิ้วไปมา มีการเล่นเสียงในคอเสียงดังอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด จะไม่สามารถยืดหยุ่นในการทำสิ่งที่เคยทำเป็นประจำ โดยต้องทำตามขั้นตอนเหมือนเดิมทุกครั้ง จนบางครั้งพ่อแม่อาจคิดว่าลูกเป็นเด็กเจ้าระเบียบ
เด็กออทิสติกจะขาดจินตนาการในการเล่น อย่างเด็กทั่วไปถ้าเล่นรถก็จะเข็นและปล่อยให้รถวิ่งไป แต่เด็กออทิสติกจะไม่ปล่อยให้รถวิ่ง จะลากรถแล้วหยิบรถขึ้นมาดูล้อที่หมุน นี่เป็นพฤติกรรมที่เป็นสากล ลักษณะการเล่นจะค่อนข้างจำกัด บางคนเล่นมือ บางคนชอบติดของเป็นเวลานานเกิน ส่วนใหญ่เด็กออทิสติกจะมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้นหรือเรียกว่า ไฮเปอร์แอกทีฟ (Hyperactive) ด้วย เป็นอาการที่เด็กอยู่ไม่เป็นสุข มีการเคลื่อนไหวมากกว่าเด็กที่มีอายุเท่ากัน แสดงถึงภาวะการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยกว่าวัย บางคนวิ่งพลุกพล่าน อยู่ไม่นิ่งควบคุมตัวเองไม่ได้ ขณะที่บางคนจะเป็นออทิสติกแบบนิ่งก็มีเหมือนกัน
แพทย์จะตรวจรู้ได้อย่างไรว่าเป็นออทิสติก
เมื่อเด็กยิ่งโตขึ้นปัญหาเรื่องพฤติกรรมจะเริ่มเด่นชัดมากขึ้นจนพ่อแม่สังเกตได้ และอาจเริ่มรู้สึกกังวลใจว่าลูกเราเป็นอะไรหรือเปล่าทำไมไม่เหมือนเด็กคนอื่น กุมารแพทย์หรือจิตแพทย์จะเป็นผู้ช่วยในการวินิจฉัย โดยศึกษาพัฒนาการของเด็กเปรียบเทียบกับความสามารถของเด็กปกติ อาศัยการซักประวัติอย่างละเอียดจากพ่อแม่ ซึ่งจะพบความแตกต่างชัดเจนในหลายด้าน โดยดูจากพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กแรกเกิด กิน นอน ขับถ่าย การแสดงออกทางพฤติกรรมการเข้าสังคม การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การสบตา การได้ยิน การใจภาษา การพูดและการสื่อความหมาย พฤติกรรมซ้ำซาก การแสดงออกทางอารมณ์ การใช้จินตนาการและการใช้กล้ามเนื้อ
ในการตรวจวินิจฉัยว่าเด็กเป็นออทิสติกหรือไม่ ไม่มีเครื่องวัดที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่อาจมีการตรวจประกอบการวินิจฉัยจากพฤติกรรม เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจคลื่นสมอง เพราะข้อสังเกตเบื้องต้นของเด็กออทิสติกคือเมื่อเรียกแล้วจะไม่หัน หมอจึงจะตรวจการได้ยินก่อน ซึ่งถ้าเป็นออทิสติกจริงจะไม่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน นอกจากจะมีหูหนวก หูตึงมาร่วมด้วย
การที่จะรู้ว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่จะคอยสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกตั้งแต่แรกเกิดอย่างใกล้ชิด
ออทิสติกเกิดขึ้นได้อย่างไร
ปัจจุบันยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนใดตอบได้เฉพาะเจาะจงลงไปว่าสาเหตุที่แท้จริงของออทิสติกคืออะไร รู้เพียงแต่ว่าเป็นความบกพร่องของสมองส่วนที่มีหน้าที่เกี่ยวกับระบบประสาทสัมผัสและการรับรู้ และมีเพียงข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของออทิสติกว่ามาจากภาวะต่างๆ ที่ทำให้สมองบางส่วนผิดปกติ อาจเป็นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อุบัติเหตุทั้งระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างคลอด หรือเรื่องความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย เช่น แม่เป็นหัดเยอรมันหรือได้รับเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์ เด็กขาดออกซิเจนระหว่างการคลอด ตลอดจนการเจ็บป่วยของเด็กหลังคลอด เช่น โรคไข้สมองอักเสบ ไอกรน เป็นต้น
กรรมพันธุ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่พูดถึงกันมาก จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่มีลูกเป็น
ออทิสติก พบว่าในครอบครัวที่มีบุคคลออทิสติกจะมีโอกาสเป็นออทิสติกสูงกว่าประชากรทั่วไปประมาณ 1 : 50 คน ส่วนในคนทั่วไป 1 :2,500 คน ถ้าเป็นคู่แฝดจะยิ่งเกิดได้สูงถึงร้อยละ 8 – 9 รวมถึงเรื่องสภาวะแวดล้อม มลพิษ สารเคมีต่างๆ ที่แม่อาจได้รับ เหล่านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและปัจจัยประกอบ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องป้องกันในการดูแลสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ระหว่างคลอดและในการดูแลเด็กระยะเริ่มแรก
ออทิสติกพบได้ในเด็กทั่วไป โดยไม่จำกัดพื้นฐานทางสังคม เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ
แต่จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4 เท่า สถิติของเด็กออทิสติกประมาณ 5 – 20 คน ใน 10,000 คน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเช่นกันว่าอะไรเป็นตัวการที่ทำให้ออทิสติกเป็นเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
ระดับอาการออทิสติก
ระดับอาการออทิสติก ดูได้จากพฤติกรรมหรือการเรียนรู้ ไม่มีสูตรตายตัว อาจจำแนกระดับอาการกว้าง ๆ ได้ 3 ระดับ ดังนี้
1. ระดับกลุ่มที่อาการน้อย
เรียกว่ากลุ่ม Mild autism หรือบางครั้งเรียก กลุ่มออทิสติกที่มีศักยภาพสูง (high functioning autism) ซึ่งจะมีระดับสติปัญญาปกติหรือสูงกว่าปกติ มีพัฒนาการทางภาษาดีกว่ากลุ่มอื่น อาจมีความสามารถบางอย่างแฝงอยู่หรือเป็นอัจฉริยะแต่ยังมีความบกพร่องในทักษะด้านสังคม การรับรู้ อารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลอื่น ในปัจจุบันมีผู้เรียกเด็กกลุ่มนี้อีกชื่อหนึ่งว่า
แอสเพอเกอร์ (Asperger Sydrome) ตามชื่อแพทย์ผู้ค้นพบ มีประมาณร้อยละ 5 – 20 ซึ่งในศูนย์วิจัยและพัฒนาการจัดการศึกษาพิเศษแบบเรียนรวมสำหรับเด็กออทิสติก มีเด็กกลุ่มนี้อยู่หลายคน สามารถเรียนรวมกับเด็กนักเรียนปกติในโรงเรียนได้เต็มเวลา ถ้าไม่บอกว่าเป็นเด็กออทิสติกก็จะดูไม่ออกเลยว่าเป็นเด็กออทิสติก
- ระดับกลุ่มที่มีอาการปานกลาง
เรียกว่ากลุ่ม Moderate autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในการพัฒนาการศึกษา
การสื่อสาร ทักษะสังคม การเรียนรู้ รวมทั้งด้านการช่วยเหลือตนเอง และมีปัญหาด้านพฤติกรรมกระตุ้นตนเองพอสมควร แต่สามารถพัฒนาจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และอาจเรียนในระบบได้ถึงระดับหนึ่ง มีประมาณร้อยละ 50 – 75
3. ระดับกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
เรียกว่ากลุ่ม Severe autism ในกลุ่มนี้จะมีความล่าช้าในการพัฒนาการเกือบทุกด้าน และอาจเกิดร่วมกับภาวะความพิการอื่น เช่น ปัญญาอ่อนร่วมด้วย รวมทั้งมีปัญหาพฤติกรรมที่รุนแรง มีพัฒนาการช้า หากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการมาตั้งแต่ต้นจะสามารถพัฒนาได้แค่ช่วยเหลือตนเองได้ เรียนรู้อะไรไม่ได้มาก มีประมาณร้อยละ 20 – 30 เป็นเด็กที่ไม่มีภาษาพูด อาจจะสงสัยว่าไม่มีภาษาพูด เป็นใบ้ หรือเปล่า หูหนวกหรือเปล่า ไม่ใช่เลยแต่เป็นเด็กที่มีความผิดปกติของสมองบางส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพูดบกพร่องไป จึงทำให้ไม่สามารถพูดได้ แต่เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ ทำอะไรได้ทุกอย่าง ช่วยเหลือตัวเองได้ดี ทั้งนี้เนื่องจากได้รับการกระตุ้นและพัฒนามาตั้งแต่เริ่มรู้ว่าเป็นออทิสติก
ออทิสติกกินยาแล้วรักษาให้หายได้หรือไม่ ?
ตามความเข้าใจเดิมของผู้เขียนที่ว่าเมื่อเป็นออทิสติกแล้ว เมื่อได้รับยา หรือ บำบัดแล้วจะหายเป็นปกติเหมือนกับการเป็นโรคอื่น ๆ เมื่อได้ศึกษาจึงทำให้รู้คำตอบว่า ออทิสติกนั้นเป็นความบกพร่องทางสมอง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงไม่มียาหรือเครื่องมือทางการแพทย์ใดๆ จะรักษาให้หายจากออทิสติกได้ แต่หมอจะมีการนำยาด้านจิตประสาทมาใช้ เพื่อช่วยควบคุมพฤติกรรมในเด็กบางคนที่มีอารมณ์รุนแรง หงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้า หรือชัก ซึ่งเป็นการใช้ยาเพื่อช่วยแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไป และเมื่ออาการเหล่านี้ดีขึ้นก็ต้องหยุดยา แต่ไม่ใช่เป็นยารักษาออทิสติก เพียงแต่ยาจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและทำให้การฝึกฝนเด็กดำเนินไปอย่างราบรื่นขึ้น ยาหลายตัวที่นำมาใช้มีผลข้างเคียง ซึ่งยังเป็นที่คัดค้านในต่างประเทศ จึงต้องระมัดระวังในการใช้ และยังเป็นยาที่นำมาจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพง โดยเฉพาะถ้าซื้อในโรงพยาบาลเอกชน อย่างไรก็ตามการใช้ยาต้องมีแพทย์เป็นผู้สั่งให้เท่านั้น
มียาบางตัวที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมในเด็กออทิสติก เพื่อช่วยให้การฝึกฝนเด็กดำเนินไปอย่างราบรื่น ขอแนะนำยาที่ใช้ต่อไปนี้คือ
1. Risperidlo ใช้ในเด็กที่มีความก้าวร้าว รุนแรง เพ้อคลั่ง หรือทำร้ายตัวเอง
2. Ritrlin ใช้ในเด็กที่มีสมาธิสั้นหรือซนมากๆ
3. Tegretal – cr ใช้ในเด็กที่คลื่นสมองมีความผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการชัก จึงกินเพื่อปรับคลื่นสมอง ป้องกันการชัก มักจะให้ในเด็กที่อายุใกล้ๆ 10 ปี
เมื่อเป็นออทิสติกแล้วจะรักษาได้อย่างไร
หลายคนไม่เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นโรค เพราะถ้าเป็นโรครักษาได้โดยการกินยา ฉีดยาก็มี
โอกาสหาย แต่ออทิสติกไม่ใช่โรค เป็นออทิสติกแล้วรักษาไม่หาย แต่การกระตุ้นพัฒนาการของเด็กตั้งแต่ต้นอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ดีขึ้น จนสามารถช่วยตัวเองและดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้โดยไม่แตกต่าง หัวใจของการช่วยเหลือเด็กออทิสติกจึงอยู่ที่การกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งควรทำให้เร็วที่สุด ทำอย่างต่อเนื่อง ทำตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน โดยต้องร่วมกันเป็นทีมสหวิชาชีพ ทั้งพ่อแม่ คนในครอบครัว กุมารแพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด นักสังคมสงเคราะห์
นักอาชีวบำบัด
การช่วยเหลือเด็กออทิสติก
ออทิสติกเป็นเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและมีระดับความรุนแรงแตกต่างกัน ดังนั้นการปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา การส่งเสริมฟื้นฟูและพัฒนาพฤติกรรมที่เหมาะสม จึงจำเป็นสำหรับเด็กออทิสติกมาก การดำเนินการกดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเด็กดังนี้
พ่อแม่ เป็นครูคนแรกของลูก ต้องเอาใจใส่ให้ความอบอุ่น รู้จักวิธีสังเกตพัฒนาการของลูก เพื่อเป็นข้อมูลในการรักษาบำบัดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และพฤติกรรมที่เหมาะสม พ่อแม่เด็กออทิสติกต้องมีความอดทนสูงมากกว่าพ่อแม่ของเด็กปกติทั่วไป ทำใจยอมรับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ปรับสถานการณ์ภายในบ้านให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดู และต้องไม่ผลักภาระความรับผิดชอบให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว แต่ควรจะร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้ลูกช่วยเหลือตนเอง ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยที่ไม่เป็นภาระแก่สังคมเมื่อยามที่พ่อแม่แก่เฒ่าหรือเมื่อไม่มีญาติพี่น้อง
แพทย์ หมายถึง กุมารแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักฝึกพูด นักบำบัดทั้งหลาย ต้องร่วมมือประสานงานกับพ่อแม่และครู ช่วยรักษาบำบัด ให้คำแนะนำ ฝึกอบรม เพื่อลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา เสริมสร้างทักษะการช่วยตนเอง และทักษะอื่นๆ ตามสิทธิในฐานะบุคคลออทิสติกจัดเป็นคนพิการประเภทหนึ่งดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2543 มาตรา 15 (1 ) ที่กำหนดให้คนพิการซึ่งจดทะเบียนแล้วต้องได้รับ “บริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีทางการแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เพื่อปรับสภาพทางร่างกาย ทางสติปัญญา หรือทางจิตใจ หรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ”
ครูและบุคลากรในโรงเรียน ต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเด็กออทิสติก มีจิตใจที่เมตตา เห็นใจและต้องการจะให้ความช่วยเหลือ ต้องมีความอดทนในการที่จะช่วยเหลือ
ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสร้างเสริมทักษะใหม่ๆ และให้การศึกษาพิเศษตามความถนัดของเด็ก
แต่ละคน ซึ่งเด็กออทิสติกมีสิทธิในการได้รับบริการด้านการศึกษาจากรัฐอย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไปตามนโยบาย “ การจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ” ของสหประชาชาติ และการกำหนดสิทธิด้านการศึกษาของพลเมืองไทยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2540 มาตรา 43 ให้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย …” นั่นหมายความว่า บุคคลออทิสติกมีสิทธิสมัครเข้าเรียนได้ทุกโรงเรียน ทุกระดับชั้นเรียน และทุกระบบการศึกษาเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป โดยโรงเรียนหรือหน่วยงานที่จัดการศึกษาไม่มีสิทธิปฏิเสธ
เด็กออทิสติกติกในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ฉะนั้นผู้ที่มีบุตรหลานที่เป็นเด็กปกติถือว่ามีความโชคดีกว่าพ่อแม่ที่มีลูกเป็นออทิสติก ในการเลี้ยงดูลูกไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กออทิสติกต่างก็ต้องการความรัก ความอบอุ่น ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ทั้งสิ้น และยิ่งเมื่อมีลูกเป็นออทิสติกผู้ที่เป็นพ่อแม่ก็ต้องรักและสามัคคีกันให้มากเพื่อจะได้เป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจที่จะช่วยเหลือลูกไม่ว่าจะเป็นการบำบัด รักษา ปรับพฤติกรรมเด็กออทิสติก หรือแม้กระทั่งทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกออทิสติกมีการพัฒนาขึ้น ถึงแม้จะเป็นการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม เหมือนกับพ่อแม่ของเด็กออทิสติกที่ผู้เขียนได้สัมผัสหลาย ๆ ท่าน ล้วนแล้วแต่มีจุดหมายเดียวกันคือ ลูกอันเป็นที่รัก เป็นแก้วตาดวงใจนั่นเอง
เอกสารอ้างอิง
กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. ชุดเอกสารการศึกษาด้วนตนเอง วิชาการศึกษาพิเศษ เรื่อง การจัดการศึกษาสำหรับเด็กออทิสติก : โรงพิมพ์การศาสนา , กรุงเทพฯ, 2544.
กระทรวงศึกษาธิการ. ถาม – ตอบ ปัญหาการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม. สำนักพิมพ์ คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ, 2545.
กองบรรณาธิการ . ออทิสติก. วาสารหมอชาวบ้าน 2544 :23 ,268 :10-16.
จิตติรัตน์ พุกจินดา. เรื่องธรรมดาของออทิสติก. บริษัทพิมพ์ดี จำกัด. กรุงเทพฯ, 2545.
ดนุนุช ตันมณี (นามปากกา). ออทิสติกฝันให้ไกลไปให้ถึง : เรียนรู้ออทิสซึมระดับรากหญ้าไทย ในชนบท.เซเปียนส์ . กรุงเทพฯ, 2546.
ดารณี อุทัยรัตนกิจ. การศึกษาสาเหตุของปัญหานักเรียนและแนวทางการแก้ไขปัญหาใน ห้องเรียน. บริษัทเดอะมาสเตอร์ กรู๊ปแมนเนจเม้นท์ จำกัด . กรุงเทพฯ, 2544.
ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล. พัฒนาการบำบัดสำหรับเด็กออทิสติกตามแนวทางป้าหมอเพ็ญแข. แปลน พับลิชชิ่งจำกัด. กรุงเทพฯ, 2545.
นิรมล พัจนสุนทร. ความรู้เรื่องออทิสติกสำหรับผู้ปกครอง ครู และบุคลกรของสาธาณสุข. โรง พิมพ์คลังนานาวิทยา. กรุงเทพฯ, 2547.
เพ็ญแข ลิ่มศิลา. การวินิจฉัยโรคออทิสซึม. ช.แสงงามการพิมพ์. สมุทรปราการ,2540.
ศรันยา เผืองผ่อง. คุณภาพชีวิตของมารดาที่มีบุตรเป็นเด็กออทิสติก : ศึกษากรณีโรงพยาบาลยุว
ประสาทไวทโยปถัมภ์. วารสารเศรษศาสตร์ 2543 : 3 : 73-79.
สุพิชฌาย์ เลาหะพานิช
ศึกษานิเทสก์ สพป.สระบุรี เขต 1