OECD ห่วงการศึกษาได้รับผลกระทบจาก AI

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 09.30 – 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐฝรั่งเศส หรือ 14.30 – 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษาหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษา (EDPC) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนของประเทศรับเชิญพิเศษ (Non-member Economy) ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษา สมัยที่ 35 (35th Session of Education Policy Committee) พร้อมด้วย นายภูมิพัทธ เรืองแหล ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา และ นางสาวสุปราณี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 11-12 เมษายน 2567

ดร.อรรถพล กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับทิศทางการทำงานของคณะกรรมการ EDPC ที่มุ่งเน้นไปในการสร้างแนวทางการศึกษาที่ยั่งยืนและเข้าถึงได้ง่าย คณะกรรมการให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านแผนงานและความร่วมมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านโครงการ South East Asia Reginal Program โดยในปี 2024 (2567) มีประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกทางการ ที่ได้แสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน OECD และมีการประชุมแลกเปลี่ยนแผนงานร่วมกัน ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทย ซึ่งเป็นนิมิตรอันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความสัมพันธ์ทางการค้า แนวคิดประชาธิปไตย แรงงาน และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทรัพยากรมนุษย์ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า นอกเหนือจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและอิทธิพลต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อแวดวงการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอิทธิพลและความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงการนำ Genetative AI (ปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง) โดยผลการสำรวจพบว่าการลงทุนแบบ Generative AI เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดหลักสูตร AI มีเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถาบันการศึกษาเล็งเห็นประโยชน์มหาศาลของ AI ที่สามารถใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของครู ช่วยครูในการวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน จัดทำรายงานและแผนการเรียนรู้ และสร้างเนื้อหาการสอนที่ปรับให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้เพื่อพัฒนาวิธีการสอนใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้แสดงข้อกังวลเชิงปฏิบัติที่เกิดขึ้นทันที เช่น การต่อสู้กับความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไปจนถึงคำถามที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับประเภทของทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องพัฒนาสำหรับโลกแห่งการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง และวิธีสนับสนุนผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาที่ดีที่สุด โดยคณะวิจัยได้มีการลงพื้นที่สอบถามการใช้งาน AI จากครูและนักเรียน ซึ่งปัจจุบันยังพบปัญหาการใช้งาน ซึ่งจำเป็นต้องจัดทำคำแนะนำ (Guideline) ให้ครอบคลุม และมีตัวชี้วัดที่อ้างอิงได้มากพอ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและไม่ส่งกระทบต่อพัฒนาการของผู้เรียน ในด้านความปลอดภัย อีกประเด็นที่น่าจับตาคือการเปลี่ยนแปลงสังคมสีเขียว (Green Transition) ที่จะต้องส่งผลต่องานและทักษะที่จำเป็นในอนาคต การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของทักษะต่อสุขภาพ งาน และความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงสีเขียวที่ส่งผลเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยการช่วยให้คนงานที่ถูกแทนที่เปลี่ยนไปสู่งานและภาคส่วนใหม่ๆ และเพิ่มผลผลิต ความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม ทั้งนี้ OECD ได้ร่วมมือกับ london school of economics จัดทำผลสำรวจในประเทศอังกฤษ พบว่า ผู้ประกอบการที่จัดฝึกอบรมทักษะเชื่อว่าทักษะเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า (EVs) แต่ช่างส่วนใหญ่ยังขาดทักษะด้านนี้เป็นจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีการสนับสนุนหรือจัดทำหลักสูตรในภาคการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าหรือการเพิ่มพูนทักษะ (Upskilling) สายช่างที่กำลังขาดแคลน ทั้งที่ รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศว่าจะหยุดขายรถสันดาปภายในปี 2035 (พ.ศ. 2578) หลังพบว่าการคมนาคมขนส่งได้ปล่อยก๊าสเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 26 ของจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเมื่อปี 2021   สำหรับการประเมิน PISA 2022 (พ.ศ.2565) มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15ปี จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยมีประเทศเอลซาวาดอร์ จาไมก้า มองโกเลีย ปาเลสไตน์ และอุซเบกิสถาน เข้าร่วมเพิ่มจากเดิม ขณะนี้ OECD ได้เผยแพร่รายงาน PISA ฉบับที่ 1 เรื่อง The state of Learning and Equity in Education และ ฉบับที่ 2 Learning During – and From – Disruption ส่วนปี 2024 จะมีการเผยแพร่อีก 3 ฉบับที่เหลือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) และ ความพร้อมของผู้เรียนสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Student readiness for life-long learning) ผลการทดสอบในปี 2022 พบว่าประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง 15 คะแนน (ไทยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394คะแนน ซึ่งเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่าลดลงถึง 25 คะแนน) ‏ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาครั้งที่ 35 คณะกรรมการได้อภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น รวมถึงรับทราบความก้าวหน้าในโครงการ งบประมาณและแผนงานในอนาคต โดยแบ่งตามหัวข้อคการประชุม ดังนี้ 1) รายงานความก้าวหน้าโครงการและงบประมาณประจำปี 2023-2024 2) แผนงานและงบประมาณประจำปี 2025-2026 3) รายงานการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในแวดวงการศึกษา (Thematic discussion on Artificial Intelligence in Education) 4) การปรับปรุงคุณภาพและความเท่าเทียมทางการศึกษาของโรงเรียนในประเทศนิวซีแลนด์ (Improving quality and equity in school education in New Zealand) 5) รายงานความคืบหน้าโครงการ “Building stronger skills through social dialogue: the power of stakeholder engagement in education and skills policy” 6) ผลการประชุมสุดยอดทักษะปี 2024 (Skills Summit 2024) 7) โครงการ “Beyond degrees: Empowering the workforce in the context of skills-first” ว่าด้วยโอกาสและข้อจำกัดโดยวัดจากทักษะแรงงานตามความต้องการของตลาดแรงงานมากกว่าคุณวุฒิทางการศึกษา และ 8) การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการศึกษาแบบใหม่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย: แนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์และงานด้านการประเมินและการรับรองทางการศึกษา (Transitions in Upper Secondary Education: Guidance on the preparation of the synthesis report and work on assessment and certification) อนึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การโออีซีดีทางด้านนโยบายการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของ OECD ในเดือนเมษายนและพฤศจิกายน การเข้าร่วมประชุม EDPC ทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการจัดทำและพัฒนานโยบายการศึกษาของประเทศในระดับต่าง ๆ ให้สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้อย่างทั่วถึงและแข่งขันได้กับนานาชาติ รวมถึงกำหนดทิศทางตามแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาในอนาคตด้วย 

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก
https://www.kroobannok.com/91841